วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บทความวิเคราะห์การเมืองในประเทศและวิกฤตเศรษฐกิจโลก










    ประเทศไทยได้ใช้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศมาเป็นระยะเวลาถึง 79 ปี นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน


ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นการปกครองที่ยอมรับสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจปกครองประเทศอย่างทั่วถึง และมีกลไก ในการป้องกันการผูกขาดอำนาจทางการเมืองของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งรัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนประชาชนให้เกิดพฤติกรรมทางการเมืองในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจ ทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ซึ่งการแสดงออกถึงพฤติกรรมทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยนั้น สามารถ กระทำได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมในทุกสังคม


ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญมรสุม ทั้งการเมืองในประเทศและวิกฤตเศรษฐกิจโลก การที่รัฐบาลต้องมุ่งแก้ไขปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้า ทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อเป้าหมายระยะยาวคืบหน้าไปค่อนข้างช้า จนท้ายที่สุดเพื่อลดภาวะความตรึงเครียดและสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จึงแถลงข่าวประกาศยุบสภา หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภา และรัฐบาลจะนำพระราชกฤษฎีกายุบสภาประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 พฤษภาคม 2554 โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งถือว่าการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นการสิ้นสุดลงของวาระของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล ทุกฝ่ายต่างเชื่อว่าการยุบสภาฯครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นใหม่สำหรับพี่น้องประชาชนอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการเริ่มต้นการเดินหน้าประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของพี่น้องประชาชน และครอบครัว อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ภายใต้กระบวนการของประชาธิปไตย การที่รัฐบาลประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ด้วยความหวังว่า พี่น้องประชาชนจะได้ใช้โอกาสที่สำคัญนี้ในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ยังคงค้างอยู่


ฉะนั้น ความหวังทั้งมวลจึงฝากไว้กับการเลือกตั้งใหม่ที่จะมีขึ้นครั้งนี้ โดยสำหรับประชาชนทุกภาคส่วนที่มีความรักชาติ และนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ ต่างหวังว่าเรื่องความขัดแย้งที่ประเทศไทยต้องเผชิญจะจบลง แต่สำหรับผมคิดว่าคง “ไม่จบ” เพราะม็อบต่างๆ จะตามมาทั้งเหลืองแดงเขียว และสีต่างๆ เนื่องจากเราไม่เคารพกติกาไม่ยอมรับในผลการเลือกตั้ง และในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคข้างมากจะได้เป็นรัฐบาล เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ในกติกาตามรัฐธรรมนูญระบุแค่ว่า ขอให้มีสส.เกินกึ่งหนึ่งยกมือให้ โดยไม่ได้จำกัดว่าเป็นพรรคไหนที่จะยกมือให้ คนที่ได้รับการโหวตก็เป็นรัฐบาล เป็นนายกรัฐมนตรีได้


แต่ถึงอย่างไร ประเทศยังคงต้องเดินหน้า และต้องเดินหน้าไปอย่างมั่นคง หน้าตาของคณะรัฐมนตรีและนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่จะเป็นอย่างไรก็ตาม หากแต่สามารถเข้ามาบริหารจัดการให้การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้นและเร็วขึ้น ตลอดจนการบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดินให้สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เร่งสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน จะยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศที่ซบเซา กลับฟื้นคืนและเกิดการขยายตัว


ในอนาคตไทยจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) ซึ่งการเปิดเสรีทางการค้าจะทำให้การแข่งขันของธุรกิจไทยมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมุ่งให้ความสำคัญต่อนโยบายเศรษฐกิจที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวมากขึ้น โดยเฉพาะพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและแรงงานไทย รวมทั้งการผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่สำคัญ เช่น ระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงทั้งภายในประเทศในภูมิภาค และรองรับการขยายตัวของการขนส่งระหว่างประเทศ พลังงาน โทรคมนาคม การศึกษา สาธารณสุข ทรัพยากรน้ำ รวมถึงโครงสร้างการผลิตและราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น


สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ รัฐอาจต้องมีการลดภาษีหรือเพิ่มสิทธิประโยชน์บางประการเพื่อลดต้นทุนให้แก่ธุรกิจ ซึ่งน่าจะชดเชยกับต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นได้ วิธีการนี้ไม่ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกราคา และกระตุ้นให้ธุรกิจตื่นตัวในการปรับพฤติกรรมเพื่อลดต้นทุน นอกจากนี้มาตรการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการช่วยเหลือตรงไปที่กลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อยโดยตรง และได้ผลมากกว่าแนวทางอุดหนุนราคาที่ผู้ได้รับประโยชน์อาจมีกลุ่มผู้มีรายได้สูงด้วย


ดังนั้น การที่จะเห็นรูปการเมืองการปกครองไทยพัฒนาไปสู่รูปแบบความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นขึ้นอยู่กับประชาชนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ หากประชาชนมีความตื่นตัวและมีความสำนึกทางการเมืองสามารถใช้วิจารณญาณทางการเมืองได้ถูกต้อง สนใจที่จะใช้สิทธิทางการเมืองลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และเลือกผู้แทนราษฎรที่ดีเข้าสู่สภา บทบาท และพฤติกรรมทางการเมืองของประชาชน นักการเมือง และกลุ่มการเมืองต่างๆ ก็จะต้องพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศชาติได้ ทำให้ความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยแพร่หลายขึ้นและเมื่อใดประชาชนส่วนใหญ่ มีความรู้ความเข้าใจและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยแล้ว ก็เป็นที่แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีเสถียรภาพมั่นคงอยู่คู่กับการปกครองไทยตลอดไป